วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อาณาจักรฟูนัน


        อาณาจักรฟูนัน[1]เป็นรัฐที่รุ่งเรืองอยู่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 1 – 6 ที่ตั้งของรัฐอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งประเทศกัมพูชา เวียดนามตอนใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย บางตอนของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และภาคใต้ของไทย ลงมาถึงแหลมมลายู ฟูนานรวมตัวกันเป็นรัฐแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรัฐชลประทานภายในแผ่นดินที่ประชาชนดำรงชีพด้วยการเกษตร โดยใช้น้ำจากระบบชลประทานที่พัฒนาเป็นอย่างดี นอกจากนั้น ฟูนานยังมีเมืองท่าสำหรับจอดเรือและค้าขายต่างประเทศ ฟูนาน จึงมีรายได้จากการค้าขาย การเดินเรืออีกด้วย

     เรื่องราวของรัฐฟูนาน ทราบจากบันทึกของชาวจีนที่เดินทางมาแถบนี้ ได้เขียนเล่าถึงความมั่งคั่ง ความเป็นอยู่ในชุมชนที่มีระเบียบ มีคุณธรรม มีการปกครองระบอบกษัตริย์ มีเมืองต่าง ๆ มาขึ้นด้วยหลายเมือง มีวัฒนธรรมแท้ ๆ ของตนเอง มีการติดต่อกับชาวต่างประเทศ ทั้งในทวีปเอเชียด้วยกัน และโลกตะวันตก ชนชั้นสูงเป็นพวกมาลาโยโพลีนีเซียน ชาวจีนว่าพวกชนชั้นพื้นเมืองของฟูนันหน้าตาหน้าเกลียด ตัวเล็ก ผมหยิก สันนิฐานว่าน่าจะเป็นพวกเนกริโตและเมลานีเซียน ฟูนานมีประวัติความเป็นมา เริ่มจากการรวมตัวกันของผู้คน เป็นชุมชนเล็กขนาดหมู่บ้าน จากหมู่บ้านพัฒนาขึ้นมาเป็นรัฐ วิธีการพัฒนาจากสังคมเผ่าเป็นสังคมรัฐมีปัจจัยและขั้นตอนหลายประการ

สังคมดั้งเดิมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสังคมเผ่า (Tribal Society) ต่อมาพัฒนาเป็นสังคมรัฐ (Social State) เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 1 เป็นต้นมา ตัวอย่าง คือ ฟูนาน เดิมเป็นหมู่บ้าน ต่อมาขยายออกไปเพราะมีประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงต้องขยายที่เพาะปลูกให้พอกินพอใช้กับจำนวนชุมชนที่ขยายขึ้น ได้พยายามหาเทคโนโลยีการเกษตร มาช่วย เช่น ขุดคูคลองกั้นน้ำ เพื่อให้อยู่ดีและมีอาหารพอเพียงต่อมาเริ่มมีโครงร่างของสังคมดีขึ้น จึงพัฒนามาเป็นรัฐ เหตุที่ฟูนานพัฒนาเป็นรัฐได้นั้น มีผู้แสดงความเห็นไว้ เช่น เคนเนธ อาร์ ฮอลล์ กล่าวว่า เป็นเพราะฟูนานมีการพัฒนาในเรื่องการเพาะปลูกอย่างมาก และที่สำคัญอีก คือ ฟูนานมีเมืองท่าที่เป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเล พร้อมทั้งได้ยกข้อคิดเห็นของ โอ.ดับบลิว.โวลเดอร์ (O.W.Wolter) ที่กล่าวถึงการพัฒนาการจากสังคมเผ่าเป็นสังคมรัฐว่า เป็นเพราะลักษณะทางการค้า และสภาพภูมิศาสตร์เอื้ออำนวย โดยเฉพาะที่เมืองออกแก้ว (Oc-EO) เมืองท่าของฟูนานที่เรือต่าง ๆ ผ่านมาต้องแวะด้วย

ลักษณะของวัฒนธรรมที่เมืองออกแก้ว เป็นแบบผสมกันระหว่างวัฒนธรรมพื้นเมืองและวัฒนธรรมอินเดีย เช่น ประเพณีการบูชาภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ และเจ้าหญิงธิดาพญานาคของชาวฟูนาน ได้สืบทอดต่อมาเป็นธรรมเนียมที่กษัตริย์กัมพูชาทรงปฏิบัติ ส่วนลักษณะของสถาปัตยกรรมเป็นแบบวัฒนธรรมอินเดีย ได้แก่ โบราณสถานของกัมพูชาสมัยก่อนนครวัด นอกจากนั้น มีพระพุทธรูปแบบคุปตะ ภาพปั้นพระวิษณุสวมมาลาทรงกระบอก และภาพปั้นพระหริหระ ล้วนแสดงให้เห็นว่า ประติมากรชาวฟูนานได้รับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมจากอินเดียสมัยราชวงศ์ปาลวะ และราชวงศ์คุปตะ ทั้งศาสนาพุทธ และศาสนาฮินดู มีภาษาสันสกฤต ซึ่งเห็นได้จากบันทึกของชาวฟูนานที่บันทึกไว้คราวมีงานเฉลิมฉลองรัชกาลพระเจ้าโกณธิญญะที่ 2 (สวรรคต ค.ศ. 434) และรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 (ครองราชย์ ค.ศ. 478 – 514) ที่มีประเพณีการจัดงานต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะแสดงถึงอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียแล้ว ยังปรากฏคำลงท้ายพระนามกษัตริย์ฟูนานว่า “วรมัน” ภาษาสันสกฤต แปลว่า “ผู้อยู่ใต้การอุปถัมภ์” ที่อยู่ในวรรณะกษัตริย์ของอินเดียนิยมใช้กัน สิ่งเหล่านี้ ล้วนแสดงให้เห็นอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียที่มีต่อรัฐฟูนาน ฟูนานมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ดังนั้น เรื่องราวของฟูนานจึงปรากฏในบันทึกของจีน ที่กล่าวไว้ว่า เมืองต่าง ๆ ในฟูนานมีกำแพงล้อมรอบ มีปราสาทราชวัง และบ้านเรือนราษฎรชาวฟูนานมีผิวดำ ผมหยิก เดินเท้าเปล่า ทำการเพาะปลูก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น